x close

มองต่างมุม อย. ปล่อยร้านยา จำหน่าย ไวอากร้า กระตุ้นเซ็กส์


มองต่างมุม"อย."ปล่อยร้านยา จำหน่าย"ไวอากร้า"กระตุ้นเซ็กซ์! (ข่าวสด)

          ในอนาคตอันใกล้ สำนักงานคณะกรรม การอาหารและยา (อย.) กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการจำหน่าย "กลุ่มยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ" เพื่อให้สามารถจำหน่ายในร้านขายยาคุณภาพ ในโครงการของอย.ได้ โดยกลุ่มตัวยาที่ได้รับการอนุญาตให้จำหน่าย ประกอบด้วย

          1. Sildenafil (ซิลเดนาฟิล) มีชื่อทางการค้าจำนวน 3 ยี่ห้อ คือ Viagra (ไวอากร้า), Elonza (อีลอนซ่า) และ Tonafil (โทนาฟิล) 

          2. Tadalafil (ทาดาลาฟิล) โดยมีชื่อทางการค้า คือ Cialis (ซิอะลิส) 

          3. Vardenafil (วาเดนาฟิล) ชื่อทางการค้า คือ Levitra (เลวิตรา) และ อะโพสตาดีล (Alprostadil) 1 ตำรับ ซึ่งเป็นชนิดฉีด

          ที่มาแนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้น เพราะผู้บริหาร อย. เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหายาปลอมซึ่งระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อดูจากสถิติพบว่า อย. ได้ดำเนินการในเรื่องการจับกุมยาปลอมมานานเป็น 10 ปี โดยในปี 2551 จับกุมของกลางจำนวน 18 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 99 เปอร์เซ็นต์เป็นยาในกลุ่มรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ 

          นอกจากนั้น สถานการณ์ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549-2552 พบการลักลอบจำหน่ายยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศปลอมกว่า 244,101 เม็ด

คิดเป็นมูลค่ากว่า 97 ล้านบาท 

          ภญ.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ปัจจุบัน มีตำรับยาเพื่อรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศถึง 11 ตำรับ ต่างจาก 10 ปีก่อนที่มียาเพียง 1-2 ตำรับเท่านั้น การเปิดช่องทางจำหน่ายเพิ่มขึ้น จึงไม่ได้เป็นการผูกขาด หรือเอื้อประโยชน์แก่ใคร 

          ซึ่งร้านที่จะสามารถจำหน่ายได้ ต้องเป็นร้านที่เข้ามาตรฐานและมีข้อตกลงกับอย.เท่านั้น และต้องผ่านการรับรองโดยสภาเภสัชกรรม ขณะที่เภสัชกรในร้านยาต้องผ่านการฝึก/อบรม เกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการบริการตามมาตรฐานวิชาชีพ รวมทั้งเงื่อนไข กฎระเบียบ 

          "ปัจจุบันมีร้านขายยาคุณภาพรองรับกว่า 355 ร้านทั่วประเทศ โดย อย. จะมีการวางระบบการควบคุมกำกับการกระจายยาจากบริษัทยาไปยังร้านยาที่ อย. ประกาศกำหนด โดยมีประกาศให้ยากลุ่มนี้เป็นยาบริษัทผู้ผลิตและนำเข้าต้องทำรายงานการขายยาตามแบบ ขย. 8 ทุก 4 เดือน โดยผู้ป่วยที่จะซื้อยาได้ต้องมีใบรับรองจากแพทย์และได้รับการติดตามการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง" ภญ.วีรวรรณ กล่าว

          ด้านภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากนโยบายใหม่ของ อย. ว่า ยากลุ่มดังกล่าวจำเป็นต้องควบคุมอย่างเข้มงวด 

          การจ่ายยาโดยไม่มีข้อบ่งชี้ที่ถูกต้อง หรือจ่ายยาให้คนปกติที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ จะก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้ยาอย่างแน่นอน หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยที่แท้จริง หากทานยาไม่ถูกต้อง ไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ไม่มีระบบติดตามอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากยาก็มีอันตรายต่อชีวิตได้เช่นกัน เหตุเพราะกลุ่มยาชนิดนี้ เมื่อทานเข้าร่างกายแล้วจะเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลง "โมเลกุลยา" ที่ตับ 

          จากนั้นจึงกระจายเข้าสู่เส้นเลือด โดยออกฤทธิ์ให้เส้นเลือดที่องคชาตขยายตัว จึงทำให้องคชาตแข็งตัวและสามารถอยู่ได้นานนับชั่วโมง เนื่องจากร่างกายสูบฉีดเลือดให้ไหลเวียนไปที่องคชาต และไม่ปล่อยให้เลือดไหลกลับเข้าหัวใจตามระบบการทำงานของร่างกายตามปกติ ส่งผลให้หลักการทำงานของยาชนิดนี้ อาจมีอันตรายต่อหัวใจ หากขาดเลือดนานจากการที่เลือดไม่ไหลเวียนตามปกติ!

          สําหรับผลข้างเคียงที่พบบ่อยในกลุ่มผู้ทานยากลุ่มรักษาอาการหย่อนสมรรถ ภาพทางเพศ ทั้งผู้ป่วยจริงๆ และผู้ที่ไม่ป่วย แต่ทานยาเพราะความเชื่อผิดๆ จะพบได้ตั้งแต่อาการเล็กน้อย เช่น ปวดศีรษะ หน้าแดง ตาพร่ามัว หน้าบวม ตาแพ้แสง 

          ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นได้แม้ไม่บ่อย แต่อาการรุนแรงอันตรายต่อชีวิต คือ ภาวะช็อก หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน หรือที่เรียกว่า "ตายคาอก!"
 

          ดังนั้น กลุ่มยาชนิดนี้จึงมีข้อจำกัดสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือต้องทานยาต่อเนื่องไม่ควรทานยาชนิดนี้เด็ดขาด โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ รวมถึงผู้ที่เคยมีประวัติป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน หัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง และภาวะความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคจอประสาทตา เนื่องจากผู้ป่วยโรคเรื้อรังส่วนใหญ่มักจะทานยารักษาโรคหลายชนิดร่วมกัน และยาบางชนิดต้องย่อยสลายที่ตับเช่นเดียวกับยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ 

          หากทานยาไปพร้อมๆ กันหลายชนิด ส่งผลให้ยาออกฤทธิ์ตีกัน ทำให้ลดสมรรถภาพยา ผู้ป่วยไม่ได้ประโยชน์จากการทานยา 100 เปอร์เซ็นต์

          ภญ.นิยดา แนะนำว่ายาชนิดนี้ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดของการแก้ปัญหาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หากผู้ชายคิดว่าตนเองมีปัญหาทางเพศจริงๆ ควรจะไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ที่ถูกต้อง 

          การรักษามีหลายวิธีทั้งการใช้ยาบำบัด ร่วมกับ "จิตบำบัด" จึงจะได้ผลดี ขั้นตอนการทานยาควรได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด และแพทย์เป็นผู้จ่ายยาให้ ที่สำคัญ ไม่ควรไปซื้อยามาทานเอง เพราะผลข้างเคียงอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้!





 เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย 

   คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ 






ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มองต่างมุม อย. ปล่อยร้านยา จำหน่าย ไวอากร้า กระตุ้นเซ็กส์ อัปเดตล่าสุด 25 กันยายน 2552 เวลา 11:06:01 7,657 อ่าน
TOP