2 อาการควรรู้ เรื่องดวงตาลูกเบบี๋

baby

2 อาการควรรู้ เรื่องดวงตาลูกเบบี๋
(Mother&Care)

          ระบบการมองเห็นของลูกน้อยจะมีพัฒนาตามลำดับตั้งแต่ในครรภ์ของคุณแม่ ทั้งด้านในส่วนประกอบ และระบบประสาทตา ต่อเนื่องถึงหลังคลอด จนกระทั่งอายุ 6 ขวบปีแรกจึงจะสมบูรณ์ ซึ่งบางครั้ง คุณพ่อคุณแม่อาจพบอาการต้องสงสัยเรื่องดวงตาลูกที่เกิดขึ้นได้ ฉะนั้น เพื่อความชัดเจนในข้อมูล คลายความสงสัยเรื่องดวงตาลูกน้อย มาดูข้อมูลต่อไปนี้ค่ะ
 
อาการตาเข

สาเหตุ

         อาจเกิดจากสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น สายตายาว หรือมีการทำงานที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อที่ใช้กลอกลูกตา อาจเป็นมาแต่กำเนิด เป็นกรรมพันธุ์หรือมีโรคที่เกิดขึ้นภายหลังและมีผลต่อกล้ามเนื้อตา เช่น ภาวะอัมพาตของสมอง, อุบัติเหตุ, เนื้องอกในสมอง เป็นต้น ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตอาการได้ง่าย ๆ โดยวิธีต่อไปนี้ค่ะ

        หลัง 3 เดือนไปแล้ว ถ้าลักษณะดวงตาสองทั้งข้างไม่อยู่แนวขนานกัน โดยพบว่ามีตาดำข้างใดข้างหนึ่งเขเข้าด้านใน (ทางหัวตา) หรือเขออกด้านนอก (ทางหางตา) ถือเป็นภาวะผิดปกติที่ทำให้การเคลื่อนไหวลูกตาทั้งสองข้าง ขาดการประสานงาน ซึ่งส่งผลเสียต่อการมองเห็นของลูกน้อย

         แต่อย่างโรก็ตามคุณพ่อคุณแม่อาจจะมองเห็นว่าลูกตาเข อย่างเพิ่งตกใจไปคะ ให้ดูที่ตาดำเป็นหลัก เพราะบางครั้งการที่เด็กมีรูปร่างใบหน้าที่ไม่เท่ากัน หัวตาทั้ง 2 ข้างอยู่ห่างเกินไป หรือเด็กเล็ก ๆ ที่สันจมูกยังไม่โด่งพอก็จะดูมีลักษณะคล้ายตาเขได้ ที่จริงแล้วเป็นของปลอม คุณหมอจะเรียกว่าดูเหมือนตาเขค่ะ

คำแนะนำ

         ถ้าสังเกตว่า ดวงตาลูกเข้าข่ายอาการตาเขอย่างชัดเจน หรือสงสัย ไม่มั่นใจในอาการที่เกิดขึ้นกับดวงตาลูก ควรพาลูกไปพบจักษุแพทย์ เพื่อทำการตรวจตา เพราะถ้าลูกน้อยตาเขจริง ก็อาจเสียโอกาสในการเรียนรู้ และหากปล่อยทิ้งไว้ ตาข้างที่เขอาจเกิดภาวะตาขี้เกียจได้  ซึ่งหากลูกน้อยของเรามีความผิดปกติจริง คุณหมอจะได้รักษาให้ได้แต่เนิ่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นโดยการใส่แว่น หยอดยา หรือผ่าตัด
 
  ตาขี้เกียจ

         เป็นภาวะที่สายตาของลูก น้อยไม่สามารถมองเห็นได้ชัดจากการที่มีการพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ซึ่งภาวะนี้หากปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนานเกินไปก็จะยิ่งรักษาลำบาก หรือรักษาไม่ได้เลย จึงถือเป็นสิ่งสำคัญมากที่ต้องตรวจพบและรักษาให้ได้ทันท่วงทีในช่วงอายุที่ เหมาะสม (ยิ่งอายุน้อยการรักษายิ่งง่ายและได้ผลดี) เพราะฉะนั้นขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า ดวงตาของลูกน้อย ตัวคุณพ่อคุณแม่นั่นเองที่จะช่วยให้ลูกน้อยมีสายตาที่ชัดเจนไม่ต้องตามัวไป ตลอดชีวิตได้

สาเหตุ

        เกิดจากการที่ลูกน้อยมีอาการตาเข เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของตาขี้เกียจ ทำให้ใช้ตาข้างใดข้างหนึ่งในการมองมากกว่าตาอีกข้าง ตาข้างที่ไม่ใช้งาน จึงไม่สามารถพัฒนา เจริญเต็มที่และมัวลงในที่สุด

        ภาวะสายตาสั้นยาวเอียง ไม่ว่าจะจากสายตาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน เช่น ข้างขวาสั้น 200 แต่ข้างซ้ายไม่สั้น ดังนั้น สายตาทั้งสองข้างแตกต่างกัน ลูกจะใช้ตาข้างเดียวที่ชัดกว่ามองภาพเป็นหลัก ในขณะที่ตาอีกข้างได้ใช้มองน้อยหรือไม่ได้ใช้  หรือมีภาวะสายตาสั้นหรือยาวมาก ๆ ก็สามารถทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจได้

        เกิดจากโรคที่ทำให้แสงผ่านเข้าในตาได้ไม่ดี เช่น โรคติดเชื้อในครรภ์มารดา โรคต้อกระจกแต่แรกเกิด ก็ทำให้เกิดโรคตาขี้เกียจแทรกซ้อนตามมาได้

คำแนะนำ

เนื่องจากอาการตาขี้เกียจ ทำให้ตาของลูกน้อยมัวลง ประสิทธิภาพการมองเห็นก็ลดลง ระยะเวลาที่ทำการรักษาได้ก็จำกัด จึงควรได้รับการวินิจฉัยรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็วจากจักษุแพทย์ โดย

        ทำการแก้ไขที่สาเหตุ เช่น ถ้าเกิดจากต้อกระจกในตาข้างใดข้างหนึ่ง ก็อาจพิจารณาผ่าตัดลอกต้อกระจกนั้นออก เพื่อให้เด็กได้ใช้ตาข้างนั้น

        สำหรับปัญหาสายตาสั้น-ยาว จำเป็นต้องดูแลแก้ไขด้วยการใช้แว่น เพื่อให้สายตาทั้งสองข้างมองเห็นเท่ากัน

        จักษุแพทย์จะกระตุ้นให้เด็กใช้ตาข้างที่เป็นโรคตาขี้เกียจมองมากขึ้นซึ่งถือ เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมากในการรักษา ไม่ว่าจะโดยการปิดตา หยอดยา หรือให้แว่นที่มัวในข้างที่มองเห็นดีกว่า เพื่อให้เด็กใช้ตาข้างที่ขี้เกียจมาทำงานบ้าง
 
         ดังนั้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่สงสัย หรือสังเกตเห็นสิ่งผิดปกติ เช่น ลูกดูตาเขตลอดเวลา ตาดำดูผิดปกติ ควรปรึกษาหรือพาลูกไปพบจักษุแพทย์ เพราะถ้าวินิจฉัยและให้การรักษาได้เร็ว ก็มีโอกาสที่เด็กจะมองเห็นเป็นปกติ ซึ่งก็มักต้องอาศัยความร่วมมือจากคุณพ่อคุณแม่ หมั่นพาลูกไปตรวจวัดสายตา ก็จะสามารถทำให้ลูกน้อยกลับมามีสายตาปรกติ มีพัฒนาการที่ดีตามวัย มองเห็นโลกที่สดใสได้ต่อไปค่ะ


เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
2 อาการควรรู้ เรื่องดวงตาลูกเบบี๋ อัปเดตล่าสุด 2 มีนาคม 2564 เวลา 10:39:42
TOP
x close